เทคนิคการถ่ายภาพกลางคืน

ช่วงที่ผ่านมาทาง BIG CAMERA ได้ร่วมกับ TSD Magazine จัดงาน The Circle of Love Camera Love Moment ณ สถานที่สุดฮิปย่านราชพฤกษ์อย่าง THE CIRCLE RATCHAPRUK ภายในงานมีการถ่ายภาพ Portrait และการบรรยายจากเหล่าวิทยาการมากมาย ซึ่งหนึ่งในหัวข้อบรรยายนั้นเกี่ยวกับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ และสถาปัตยกรรม ในตอนกลางคืน

เราจึงนำเกร็ดความรู้มานำเสนอให้คุณได้ลองไปสนุกกับการถ่ายภาพครั้งต่อไป หากอยู่ใกล้กับสถานที่ที่แนะนำไปข้างต้นก็จะได้ไปทดลองแล้วนำภาพส่งมาแลกเปลี่ยนกันชม

CANON 550D, Lens 18-55 mm F/8, 1/15 S, ISO400, AWB

          เริ่มจากภาพแรกที่ใครก็ถ่ายภาพได้ เพียงทำตัวให้นิ่ง อย่าขยับไปมาแล้วค่อยๆ กดชัตเตอร์ ในกล้องหลายตัวจะมีโหมดการถ่ายภาพกลางคืน (Night Mode) คุณเข้าไปเลือกได้เลยรับรองได้ภาพแนวนี้แน่นอน

สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดภาพนี้ คือ ความเร็วของชัตเตอร์ ต้องปิดช้าเพื่อให้แสงผ่านเข้าไปยังเซ็นเซอร์มากตามที่ต้องการ ในกล้องรุ่นใหม่ๆ ทั้ง DSLR, Mirrorless หรือ Compact จะมีโหมด Hand-Held ช่วยประมวลผลภาพก่อนที่จะบันทึกเพื่อลดความสั่นไหวในภาพนั่นเอง ดังนั้นแม้ไม่ได้เตรียมขาตั้งกล้องไปก็มีโอกาสได้ภาพ แต่อย่างไรถ้ามีขาตั้งกล้องก็ควรนำมาใช้

 

CANON 550D, Lens 18-55 mm, F/6.3, 1/4 S, ISO100

CANON 550D, Lens 18-55 mm, F/6.3, 1/4 S, ISO100

 

ภาพซ้ายมือนี้เริ่มใส่เทคนิคการปรับให้วัตถุไม่ชัด เพื่อให้แสงจากหลอดไฟมีขนาดใหญ่ฟุ้งขึ้น ในกล้องคอมแพคก็ทำได้โดยพยายามให้กล้องไปโฟกัสวัตถุที่อยู่ใกล้กว่าแล้วแตะปุ่มชัตเตอร์ค้างไว้ครึ่งหนึ่ง เมื่อได้ภาพเบลอสมใจจึงกดชัตเตอร์

ทางขวาจะเห็นดวงไฟเป็นเหมือนดวงวิญญาณล่องลอย มีเทคนิคไม่ยากเพียงขยับกล้องไปเฉียงขึ้นทางขวาเล็กน้อยขณะกดชัตเตอร์คุณก็จะได้ภาพลักษณะเช่นนี้

ทั้งสองภาพปรับไวท์บาลานซ์เป็นแบบฟลูออเรสเซนท์เพื่อให้แสงสีส้มเข้มกว่าปกติ เพราะถ้าตั้งให้ตรงกับค่าแสงของไฟประมาณ 3200 องศาเคลวิล สีของดวงไฟจะซีดลงไปไม่น่าสนใจเท่านี้ หรือท่านใดยังไม่สะใจก็สามารถปรับค่าด้วยโปรแกรมภายหลังตามสะดวก

 

CANON 550D, Lens 18-55 mm, F/6.3, 1/4 S, ISO100

CANON 550D, Lens 18-55 mm, F/16, 1/1.3 S, ISO100

 

สองภาพด้านบน เริ่มใส่ลูกเล่นเพิ่มขึ้นเพื่อให้ภาพดูสนุกกว่าเดิม ด้วยเทคนิค ระเบิดซูม และการเคลื่อนที่กล้องขึ้น-ลง พร้อมกับขยับไปทางขวาเหมือนเส้นกราฟ โดยขณะบันทึกภาพคุณสามารถเปิด Liveview หรือมองผ่านช่องมองภาพก็ได้แล้วแต่ความถนัด

การดึงช่วงซูมอย่างรวดเร็ว จากช่วงไวด์เป็นช่วงเทเล หรือจากช่วงเทเลเป็นช่วงไวด์ การทำเช่นนี้ทางเทคนิคเรียกว่า “ระเบิดซูม”

ภาพที่เหมือนเส้นกราฟจะเลือกใช้รูรับแสงให้แคบ เพื่อให้เส้นทั้งหมดคมชัดไม่ฟุ้งกระจายจนขาดความน่าสนใจ เนื่องจากเราเปิดม่านชัตเตอร์นานแสงส่วนที่สว่างน้อยก็จะถูกบันทึกเข้ามาด้วยจึงเกิดแสงรางๆ อีกหลายเส้น สิ่งนี้นับว่าเป็นจินตนาการที่ต้องไปสร้างสรรค์กันเองเมื่อพบกับวัตถุที่ตรงกับความต้องการต้องบันทึกภาพเอาไว้…อย่าพลาด

 

CANON 550D, Lens 18-55 mm, F/8, 1/30 S, ISO800

CANON 550D, Lens 18-55 mm, F/8, 1/30 S, ISO800

          ลองเปลี่ยนสถานการณ์จากสภาพท้องฟ้าปกติมาเป็นยามสายฝนโปรยปราย จะมีวิธีคิดในการสื่ออย่างไรให้เพื่อนรู้ว่าเรานั้นถ่ายภาพขณะฝนตก

กระจกหน้าต่าง หรืออะคริลิคใส เป็นตัวช่วยที่สามารถดึงเทคนิคการถ่ายภาพแสงไฟมาใช้ เพียงเพิ่มฉากหน้าที่เป็นหยดน้ำเข้าไป โดยเลือกโฟกัสบริเวณใดของภาพก็ได้ตามแต่แสงที่เราจัดองค์ประกอบไว้

และสามารถใช้แฟลชแยกออกจากตัวกล้องยิงเข้าที่หยดน้ำก็จะได้ความงามอีกรูปแบบหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าการถ่ายภาพกลางคืนมีเทคนิค และรูปแบบการถ่ายภาพหลากหลายไม่ต่างจากช่วงเวลากลางวันเลย เพียงแต่มีความเข้าใจในการนำแสงที่มีอยู่มาใช้ให้ได้ และให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างไร

ช่วงนี้ฝนตกเกือบทุกวันอย่างไรก็รักษาสุขภาพกันด้วยนะครับ ก่อนลากันในครั้งนี้ขอฝากเคล็ด (ไม่) ลับให้สนุกเพลิดเพลินเวลารถติดบนท้องถนน

ก่อนอื่นพยายามให้กล้องแนบ หรือยู่ใกล้กระจกแล้วใช้เทคนิคเดียวกับเมื่อสักครู่มาใช้ ยิ่งมีไฟสีแดง สีเขียวเข้ามาภาพก็จะยิ่งน่าสนใจ และรถยนต์ที่มีความสูงมากจะได้เปรียบเนื่องจากมีมุมกดมากกว่านั่นเอง จะบันทึกจากกระจกหน้า หรือกระจกข้าง ก็มีมุมมองใกล้เคียงกัน แต่ถ้าเป็นกระจกมองข้างจะเป็นเช่นไรต้องไปทดลองดู แต่ถ้าคุณขับรถอยู่ก็ไม่ควรนะด้วยความปรารถนาจากBIG CAMERA…..

 

CANON 550D, Lens 18-55 mm, F/5.6,
1/30 S, ISO800, AWB

CANON 550D, Lens 18-55 mm, F/5.6,
1/30 S, ISO800, AWB

 

 

ขอขอบคุณ  bigcamera