เคล็ดลับขั้นตอนสู่ความเป็นเซียนภาพโคลสอัพ

โลกใบเล็กพร้อมจะทำให้วิถีการถ่ายภาพของคุณเปลี่ยนไป
เพียงสังเกตวัตถุสิ่งใกล้ตัวให้มากกว่าที่เคยเป็น
รายละเอียดสิ่งเล็กๆในระยะประชิดจะเติมเต็มความสวยงาม
คุณจะหลงใหลจนเกิดเป็นความคลั่งไคล้ในที่สุด
     CLOSE-UP หรือการถ่ายภาพระยะใกล้ เป็นแนวทางการถ่ายภาพที่หลายคนนึกไม่ออก แต่ถ้าบอกว่าการถ่ายภาพอะไรก็ตามที่เข้าไปใกล้ๆตัวแบบก็ถือว่าเป็นการถ่ายภาพโคลสอัพทั้งสิ้นน่าจะทำให้คุณนึกถึงการถ่ายภาพอาหาร ดอกไม้ เล็บ ขนตา ที่นิยมโพสต์ขึ้นในเฟสบุ้ค หรืออินสตราแกรม ปัญหาในการถ่ายภาพไม่คมชัด แสงไม่สวย จัดองค์ประกอบภาพไม่ลงตัวจะผุดตามขึ้นมาทันทีโดยจำเลยที่ถูกกล่าวหาคือไม่มีเลนส์มาโครใช้จึงทำให้เข้าใกล้ตัวแบบไม่ได้ ภาพก็เลยไม่เข้าตา ความสวยงามก็ไม่เกิด หากบอกว่าเลนส์มาตรฐานที่มีมาให้พร้อมตอนที่ซื้อกล้องก็สามารถถ่ายภาพระยะใกล้ให้คุณได้…เราไม่ได้หลอกคุณ ข้อเท็จจริงคือเลนส์แต่ละช่วงทางยาวโฟกัสจะมีระยะเข้าใกล้วัตถุมากที่สุดเช่น 0.15 เมตร, 0.25 เมตร  ระบุไว้อยู่แล้วบริเวณกระบอกเลนส์(ลองหยิบเลนส์มาดู)ถ้าซูมสุดช่วงเลนส์ระยะเข้าใกล้จะพกผันน้อยลงตามทางยาวโฟกัสที่เพิ่มขึ้น ความอดทนและรอคอยเป็นอีกคุณสมบัติที่ควรมีในการถ่ายภาพโคลสอัพ ลองไปติดตามเคล็ดลับที่จะพาคุณหลงใหลไปกับการเป็นเซียนโคลสอัพกัน…
ความคมชัด…ไม่จำเป็นต้องชัดทั้งภาพ
     SHARPNESS…ความคมชัดเป็นเรื่องสำคัญของการถ่ายภาพทุกๆแขนง เมื่อต้องการเน้นสิ่งใดให้เด่นชัดก็หมุนโฟกัสให้ชัด ณ จุดนั้นส่วนจะให้ครอบคลุมช่วงระยะความชัด (Depth of Field) มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับค่าช่องรับแสง หรือ F-Stop ที่เลนส์ ถ้าแสงสว่างมีมากพอความเร็วชัตเตอร์ก็มีความเร็วสูงมากพอจะไม่ทำให้ภาพสั่นไหวจากการลั่นชัตเตอร์กล้องบนฝ่ามือ
     ความสั่นไหวเพียงน้อยนิดก็ทำให้ภาพขาดความคมชัดได้เพราะการถ่ายภาพโคลสอัพเป็นการทำงานกับอัตราขยายภาพสูง ความมั่นคงจากขาตั้งกล้องจึงเป็นคำตอบในการถ่ายภาพที่ควรมีใช้คู่กับการบันทึกภาพตัวแบบที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ความคมชัดสูงจะเกิดมากตามความมั่นคงของขนาด น้ำหนักขาตั้งกล้อง โดยมีปัจจัยน้ำหนักของกล้องอยู่บ้างแต่ไม่เสมอไปเพราะเราสามารถนำกล้องเล็กมาใช้กับขาตั้งขนาดใหญ่ได้ไม่เสียหาย แต่ถ้านำกล้องตัวใหญ่มาใช้กับขาตั้งเล็กที่ใช้วัสดุไม่แข็งแรงไม่ได้เด็ดขาด นอกจากจะไม่ได้ภาพที่คมชัดแล้วยังมีโอกาสจะทำให้คุณต้องซื้อกล้องใหม่อีกด้วย ดังนั้นการถ่ายภาพระยะใกล้หากเลือกได้ควรใช้ขาตั้งยึดกล้องทุกครั้งเพื่อผลลัพธ์สุดยอดเรื่องความคมชัด
โฟกัส…เลือกความโดดเด่นให้ตัวแบบ
     FOCUSING ยิ่งเข้าใกล้ตัวแบบมากเท่าไรระยะชัดลึกจะยิ่งน้อยลงไปเท่านั้น การหมุนปรับโฟกัสจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามจะเลือกระบบโฟกัสแบบปรับตั้งเอง (Manual Focus) หรือระบบโฟกัสอัตโนมัติ (Automatic Focus) ล้วนต้องฝึกฝนให้คล่องเวลาเลือกใช้งานเพราะการพลาดเพียงนิดเดียวภาพก็ไม่คมชัดนำไปใช้อะไรไม่ได้ เดิมมักได้ยินนักถ่ายภาพบอกว่าปรับตั้งเองดีทีสุดแต่ปัจจุบันกล้องพัฒนาให้ระบบโฟกัสอัตโนมัติมีความนุ่มนวล ปรับได้ละเอียดมากๆ
     Post Focus ระบบการโฟกัสภาพที่ถูกพัฒนาด้วยระบบ 4K คุณสามารถเลือกจุดโฟกัสใหม่ได้ตลอดเวลาจากไฟล์ต้นฉบับ เนื่องจากกล้องจะทำการสแกนเก็บทุกระนาบความชัดในภาพไว้ทั้งหมดล่วงหน้า เมื่อเลือกแตะตำแหน่งความชัดไม่ว่าจะเป็นจุดใดในจอภาพปุ๊บ! ก็สามารถเซฟภาพเป็นไฟล์ใหม่เก็บไว้ทันที เทคโนโลยีช่างดีงามช่วยให้การทำงานสะดวก ลดระยะเวลาการทำงานจริงๆ
แสง…สร้างสีสัน เติมอารมณ์ภาพ
     LIGHT คุณคงเคยได้ยินมาบ้างว่า ”ไม่มีแสง ก็ไม่มีภาพ” ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงในการถ่ายภาพทุกประเภท โดยเฉพาะการถ่ายภาพระยะใกล้ที่ต้องดูทิศทางแสงให้ดีมิเช่นนั้นเงาของเราจะไปทาบทับบนตัวแบบ การถ่ายภาพในธรรมชาติแสงแดดเป็นแหล่งกำเนิดแสงหลักที่จะก่อให้เกิดสีสัน มิติภาพ แต่เมื่อไม่มีแสงแดด หรือแสงแดดเข้าไม่ถึงคุณอาจหาแสงประดิษฐ์ที่มีมากมายตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นแสงแฟลช แสงไฟ LED มาเสริม หากใครร้อนกลัวผิวเสียก็สามารถ Setup แสงเลียแบบธรรมชาติได้เองในบ้าน หรือในสตูดิโอ
     เมื่อจำลองแสงได้คุณก็สามารถตัดกระดาษมาเลียนแบบภาพถ่ายกลางทะเลทรายเหมือนภาพตัวอย่างด้านบนได้ไม่ยากด้วยเทคนิคการถ่ายภาพย้อนแสง ถ้าไม่มีใครมาจ้องจับผิดเพื่อนอาจคิดว่าเราไปเที่ยวมาจริงๆ สำหรับท่านทีชอบถ่ายภาพดอกไม้ แมลง พระเครื่อง การจัดแสงด้วยตนเองจะสามารถควบคุมสีสัน อารมณ์ ความคมชัดในภาพได้อย่างสูงสุดตามจินตนาการ
     เทคนิคถ่ายภาพดีๆยังไม่หมดง่ายๆกลับมาพบเทคนิคที่จะช่วยสร้างสรรค์ความแปลกใหม่ให้กับภาพของคุณในระยะเวลาสั้นๆแต่ให้ผลลัพธ์ที่สวยงามได้ใหม่ทุกเดือน กับ BIG Camera ศูนย์รวมกล้องดิจิตอล ที่มีความสุขให้เลือกมากที่สุด

 

 

ขอบคุณข้อมูล  bigcamera